Contents
- 1 ยืมเงินผ่านออนไลน์ไม่มีสัญญา ถ้าแจ้งความต้องรอถึงศาลฎีกาหรือเปล่า!?
- 2 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653
- 3 พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544
- 4 หลักฐานสำหรับการแจ้งความยืมเงินแบบไม่มีสัญญาเพื่อเข้าสู้ชั้นศาลชั้นต้น-ฎีกา
- 5 บทสรุปส่งท้าย : คดียืมเงินออนไลน์ไม่มีสัญญา เคยฟ้องร้องกันถึงศาลฎีกาหรือเปล่า!?
ยืมเงินผ่านออนไลน์ไม่มีสัญญา ถ้าแจ้งความต้องรอถึงศาลฎีกาหรือเปล่า!?
การยืมเงินระหว่างกัน... เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่ที่สังคมมนุษย์ได้มีการกำหนดเงินตราขึ้นมาใช้งาน โดยเฉพาะกับคนที่มีความยากลำบากต้องการยืมเงินส่วนใหญ่ต้องการ “ด่วน” และสรรหาเหตุผลมากมายมาช่วยสร้างความเห็นใจให้กับตัวเอง แต่เมื่อได้เงินไปแล้วบางคนใช้กลยุทธ์ “ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย” โดยเฉพาะการยืมเงินออนไลน์และการยืมเงินแบบไม่ได้ทำสัญญาระหว่างกัน ทำให้หลายคนปวดหัวกับพฤติกรรมเหล่านี้เป็นอย่างมาก ครั้นจะไปทำการแจ้งความก็ไม่รู้ว่าควรทำอย่างไร!? ต้องฟ้องกันยันศาลฎีกาเลยหรือเปล่า!? ถ้าหากใครกำลังมีปัญหานี้กวนใจ มาลองทำความรู้จักกับข้อกฎหมายที่จะช่วยให้เรื่องไม่ต้องยาวไปยันศาลฎีกากันดีกว่า ว่ามีอะไรที่ควรทราบและควรทำกันบ้าง!?
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653
การกู้ยืมเงินกว่าสองพันบาทขึ้นไป ถ้ามิได้มีหลักฐานการกู้ยืมเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อของผู้ยืมเป็นสำคัญ จะฟ้องรองคดีหาได้ไม่
พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544
หากมองเพียงประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 จะเห็นได้ว่าหากไม่มีหลักฐานการยืมเงินโดยไม่ได้ทำสัญญาอย่างชัดเจนไม่ต้องรอถึงศาลฎีกา เรื่องราวก็ยังไม่เพียงพอที่จะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเลยด้วยซ้ำ แต่จากพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2544 สามารถช่วยทำให้สามารถทำการทวงหนี้ฟ้องร้องได้ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
“ธุรกรรม” หมายความว่า การกระทําใดๆ ที่เกี่ยวกับกิจกรรมในทางแพ่งและพาณิชย์ หรือ ในการดําเนินงานของรัฐตามที่กําหนดในหมวด 4 “ธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า ธุรกรรมที่กระทําขึ้นโดยใช้วิธีการทาง อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด หรือแค่บางส่วน
“ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์” หมายความว่า ข้อความที่ได้สร้าง ส่ง รับ เก็บรักษา หรือ ประมวลผลด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น วิธีการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ จดหมายอิเล็กทรอนิกส์ โทรเลข โทรพิมพ์ หรือโทรสาร
มาตรา 7 ห้ามมิให้ปฏิเสธความมีผลผูกพันและการบังคับใช้ทางกฎหมายของข้อความใด เพียงเพราะเหตุที่ข้อความนั้นอยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์
มาตรา 8 ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 9 ในกรณีที่กฎหมายกําหนดให้การใดต้องทํา เป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดง ถ้าได้มีการจัดทําข้อความขึ้นเป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเข้าถึง และนํากลับมาใช้ได้โดยความหมายไม่เปลี่ยนแปลง ให้ถือว่าข้อความนั้นได้ทําเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือ หรือมีเอกสารมาแสดงแล้ว
***ตามมาตรา 8 หมายความว่า กายืมเงินออนไลน์ได้ทำเป็นหนังสือ มีหลักฐานเป็นหนังสือหรือมีเอกสารมาแสดงแล้ว โดยต้องเตรียมหลักฐานมาประกอบด้วย โดยมีรายละเอียดที่ควรทราบดังต่อไปนี้
หลักฐานสำหรับการแจ้งความยืมเงินแบบไม่มีสัญญาเพื่อเข้าสู้ชั้นศาลชั้นต้น-ฎีกา
1.หลักฐานข้อความสนทนาในการขอกู้ยืมเงิน ผ่านแชท หรือกล่องข้อความออนไลน์
2.หลักฐานบัญชีผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ของผู้กู้ยืมเงิน
3.หลักฐานการโอนเงินผ่านธนาคาร หรือแอปพลิเคชันของธนาคาร (หากชื่อบัญชีของผู้ใช้ในสื่อสังคมออนไลน์กับชื่อของเจ้าของบัญชีไม่ตรงกัน ควรให้ผู้ขอทำการกู้ยืมทำการยืนยันและอธิบายว่าเป็นบัญชีธนาคารของใคร มีความเกี่ยวข้องอย่างไรกับผู้ข้อกู้ยืมเงิน
บทสรุปส่งท้าย : คดียืมเงินออนไลน์ไม่มีสัญญา เคยฟ้องร้องกันถึงศาลฎีกาหรือเปล่า!?
ในปัจจุบันมีคดีการฟ้องร้องเกี่ยวกับการยืมเงินผ่านทางออนไลน์โดยไม่มีสัญญาให้เห็นกันมากขึ้น แต่โดยส่วนใหญ่มักที่จบกันในศาลชั้นต้น ไม่ได้ไปถึงศาลฎีกา จึงยังไม่ได้มีการวางมาตรฐานทางกฎหมายในการกู้ยืมเงินผ่านออนไลน์โดยไม่มีสัญญายืมเงินกันอย่างชัดเจน แต่เพียงแค่นี้ก็เชื่อว่าจะช่วยปรามเหล่าลูกหนี้หัวหมอไม่ให้ใช้ช่องว่างทางกฎหมายมาหากินโดยใช้ความน่าสงสารเป็นเครื่องมือหลอกลวงคนอื่นให้ไว้ใจ...