Contents
อะไรคือประกันวินาศภัย บทความนี้มีคำตอบ!
การใช้ชีวิตในทุกวันนี้อาจเกิดอุบัติเหตุและเรื่องไม่คาดฝันได้ทุกเมื่อ ไม่ว่าจะเป็นต่อทั้งร่างกายและทรัพย์สินของเรา เราไม่สามารถล่วงรู้ได้เลยว่าในวันนี้หรือวันพรุ่งนี้จะเกิดอุบัติเหตุอะไรกับเราหรือทรัพย์สมบัติของเราได้บ้าง แต่มีสิ่งหนึ่งที่เราสามารถเตรียมการรับความเสี่ยงไว้ได้ด้วยการทำประกันนั่นเอง การทำประกันก็ทั้งประกันสุขภาพ ประกันชีวิต ที่เราเคยได้ยินกันบ่อย ๆ รวมไปถึงประกันวินาศภัย แล้วไอ้ประกันวินาศภัยนี้คืออะไรกันแน่? ไปดูกันได้เลย!
ประกันวินาศภัยคืออะไร?
ประกันวินาศภัยคือ ประกันที่ให้ความคุ้มครองต่อทรัพย์สินใด ๆ ก็ตาม ที่สามารถนำไปแปลงมูลค่าเป็นเงินสดได้ ไม่ว่าจะเป็น บ้าน รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ เป็นต้น ซึ่งผู้รับประกันจะต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้เอาประกันหากทรัพย์สินที่ทำประกันวันไว้เกิดความเสียหายหรือสูญเสียจากภัยต่าง ๆ โดยประกันวินาศภัยนี้ไม่ได้รวมอยู่ในกลุ่มเดียวกับประชีวิตและสุขภาพ
ประวันวินาศภัยมีกี่ประเภท?
ประกันวินาศภัยมีอยู่ด้วยกัน 4 ประเภท ดังต่อไปนี้
- ประกันอัคคีภัยและความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน ประกันอัคคีภัย คือ ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองต่อทรัพย์สินกรณีที่เกิดความเสียหายหรือสูญเสียอันมีสาเหตุมาจากภัยที่ระบุไว้ในกรมธรรม์เท่านั้น ส่วนประกันความเสี่ยงภัยทรัพย์สินจะให้ความคุ้มครองกับทรัพย์สินที่ได้รับความเสียหายทางกายภาพ โดยอุบัติเหตุใดก็ตามที่ไม่อยู่นอกขอบเขตความคุ้มครองตามกรมธรรม์
- ประกันรถยนต์ คือ ประกันความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรถยนต์ รวมไปถึงทรัพย์สิน และร่างกายของทั้งผู้ถือประกันและคู่กรณี อันเกิดจากรถที่ทำประกัน โดยเป็นไปตามข้อตกลงและเงื่อนไขของกรมธรรม์แต่ละเล่ม
- ประกันภัยทางทะเลและขนส่ง คือประกันที่ให้ความคุ้มครองต่อสินค้าที่ขนส่งทางทะเลในกรณีเกิดความสูญเสียหรือเสียหาย โดยมีขอบเขตการคุ้มครองรวมไปถึงสินค้าที่ขนส่งทางอากาศ ทางบก หรือทางรถไฟที่ต่อเนื่องกับการขนส่งทางทะเลด้วย กล่าวคือการประกันสินค้าใด ๆ ก็ตามไม่ว่าจะขนส่งด้วยเครื่องบิน รถยนต์ รถไฟ หรือเรือ ก็จะใช้กรมธรรม์ประกันภัยขนส่งทางทะเลในการรับประกันทั้งสิ้น ไม่ว่าสินค้าจะบรรทุกมาทางไหน
- ประกันภัยเบ็ดเตล็ด คือประกันอื่น ๆ นอกเหนือจากประกันอัคคีภัย ประกันรถยนต์ ประกันภัยทางทะเลและขนส่ง ดังนั้นประกันภัยเบ็ดเตล็ดจึงมีขอบเขนที่กว้างขวางมาก สามารถแบ่งย่อยขอบเขตการคุ้มครองออกมาได้อีก 4 แขนง คือ คุ้มครองตัวบุคคล (ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันการเดินทาง ฯลฯ) คุ้มครองทรัพย์สิน (ประกันการโจรกรรม ประกันเงิน ฯลฯ) คุ้มครองการรับผิดชอบตามกฎหมายต่อบุคคลภายนอก (ประกันภัยความรับผิดจากวิชาชีพ ประกันภัยความรับผิดของกรรมการและเจ้าหน้าที่ ฯลฯ) คุ้มครองเกี่ยวกับภัยอื่น ๆ (ประกันพืชผล ประกันปศุสัตว์ ฯลฯ)
ประกันวินาศภัยมีประโยชน์อะไรบ้าง?
ประกันวินาศภัยนั้นนอกจากจะช่วยคุ้มครองความเสียหายต่อทรัพย์สินแล้ว เรายังสามารถได้ประโยชน์หลานยประการจากการทำประกันวินาศภัยอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น
- ช่วยลดความเสี่ยงจากการสูญเสียเงินเป็นจำนวนมากในการซ่อมแซมทรัพย์สินที่เสียหายเพราะหากทรัพย์สินที่ทำประกันไว้เสียหาย แทนที่เราจะต้องเสียเงินจำนวนมากในการซ่อมแซมรักษาผู้ให้ประกันจะเป็นฝ่ายรับผิดชอบเงินค่าชดเชยในส่วนนี้ให้เราเอง
- ช่วยสร้างเครดิตการใช้เงินได้
- การทำประกันวินาศภัยช่วยให้เกิดความมั่นคงในการทำธุรกิจ กรณีเกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้นผู้ประกอบการจะสามารถใช้เงินที่ได้จากประกันมาประคับประคองกิจการต่อได้
การคำนวณค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
ค่าเบี้ยประกันวินาศภัยจะมีราคาที่แตกต่างกันไปตามกรมธรรม์และขอบเขตการคุ้มครอง โดยมีหลักการคำนวณค่าเบี้ยประกันคร่าว ๆ ดังต่อไปนี้
- ขนาดของความเสี่ยงภัย กล่าวคือขนาดของทรัพย์สสินที่ทำประกัน หากมีขนาดใหญ่ขึ้นค่าเบี้ยประกันก็จะสูงขึ้นตาม ยกตัวอย่างเช่น ขนาดของสิ่งปลุกสร้าง สถานที่ตั้ง และลักษณะการใช้งาน
- ระยะเวลาการคุ้มครอง ยิ่งระยะสั้น ค่าเบี้ยประกันก็ยิ่งสูง
- วงเงินประกันภัย ยิ่งวงเงินเยอะ ค่าเบี้ยประกันก็เยอะตาม
วิธีการชดใช้ประกันวินาศภัย
ผู้ให้ประกันวินาศภัยอาจมีการชดใช้ค่าเสียหายที่แตกต่างกันไปในแต่ละกรมธรรม์ไม่ว่าจะเป็น
- การชดใช้ด้วยเงิน
- การซ่อมแซมให้ทรัพย์สินคืนสู่สภาพเดิม
- การหาของมาทดแทน โดยจะเป็นชนิด ประเภท และคุณภาพในระดับเดียวกันกับทรัพย์สินที่ทำประกันไว้
- การกลับคืนสู่สภาพเดิม หมายถึงในกรณีที่ทรัพย์สินที่ทำประกันไว้ไม่สามารถซ่อมแซมหรือหามาทดแทนได้ ตัวอย่างเช่นกรณีที่บ้านถูกไฟไหม้จนไม่สามารถซ่อมได้ผู้ให้ประกันก็จะต้องทำการสร้างบ้านใหม่ให้
บทสรุปส่งท้าย: ควรทำประกันวินาศภัยหรือไม่?
ประกันภัยเป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนมักมองข้าม เพราะชะล่าใจว่าอุบิตเหตุคงไม่เกิดกับเราหรอก หรือหากจะเกิดก็คงไม่เสียหายอะไรเท่าไหร่ แต่อย่าลืมนะว่าเราไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าจะแจ็คพอตจะมาลงที่เราเมื่อไหร่ แล้วถ้าถึงคราวขึ้นมาจะหนักหนาแค่ไหน ส่งผลยังไงบ้าง ค่าใช้จ่ายจะมากน้อยเพียงไร เพราะฉะนั้นการทำประกันภัยไว้ก่อนก็จะช่วยลดความเสี่ยงและช่วยผ่อนหนักเป็นเบาได้