Contents
- 1 มาทำความรู้จักประกันภัยประะเภท “ประกันวินาศภัย” กันเถอะ
- 2 ประเภทของประกันวินาศภัยมีอะไรบ้าง?
- 3 1.การประกันอัคคีภัย (Fire Insurance)
- 4 2.การประกันภัยรถยนต์ (Motor Insurance)
- 5 3.การประกันภัยทางทะเล (Marine Insurance)
- 6 4.การประกันภัยเบ็ดเตล็ด (Miscellaneous Insurance)
- 7 วิธีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของประกันวินาศภัยมีอะไรบ้าง?
- 8 ส่งท้ายก่อนจะจากกัน : ประกันวินาศภัยควรหรือไม่ควรทำ?
มาทำความรู้จักประกันภัยประะเภท “ประกันวินาศภัย” กันเถอะ
การประกันวินาศภัย (Non – life Insurance) หมายถึง การที่ผู้รับประกันภัยทำสัญญายินยอมเพื่อตกลงจะชดใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือชดใช้เงินจำนวนหนึ่ง เมื่อเกิดกรณีที่เกิดความสูญเสียหรือเสียหายต่อทรัพย์สินที่ได้ตกลงเอาประกันภัยไว้ ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นดังกล่าวนั้นจะต้องสามารถประเมินมูลค่าออกมาเป็นวงเงินที่ชัดเจนได้เท่านั้น เช่น ความเสียหายที่เกิดจากอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บ ค่านำส่งโรงพยาบาล ค่ารักษาพยาบาล ค่าเสียเวลาเนื่องจากได้รับบาดเจ็บและไม่สามารถทำงานได้ ฯลฯ แต่ถ้าเป็นความเสียหายที่ไม่สามารถระบุเป็นจำนวนเงินที่ชัดเจนได้อย่างกรณีเสียชีวิต หรือสูญเสียอวัยวะ จะไม่ถือว่าเป็นวินาศภัย ประกันวินาศภัยนั้นคุ้มครองรวมไปถึงความเสียหายที่เกิดจากการสูญเสียสิทธิผลประโยชน์หรือรายได้ โดยที่ผู้เอาประกันภัยมีหน้าที่ต้องชำระเบี้ยประกันให้แก้ผู้รับประกันภัยตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงกันไว้ในกรมธรรม์นั่นเอง
ประเภทของประกันวินาศภัยมีอะไรบ้าง?
1.การประกันอัคคีภัย (Fire Insurance)
แบ่งออกเป็น 2 ประเภทย่อย ๆ ได้แก่
- การประกันอัคคีภัย : คือการประกันภัยเพื่อคุ้มครองทรัพย์สินจากเหตุไฟไหม้ ฟ้าผ่า รวมถึงการระเบิดของแก๊สที่ใช้หุงต้มหรือให้แสงสว่างเพื่อการอยู่อาศัย
- การประกันอัคคีภัยและภัยพิบัติสำหรับที่อยู่อาศัย : คือการประกันภัยเพื่อคุ้มครองไฟไหม้ ฟ้าผ่า ภัยระเบิด ภัยจากยานพาหนะ ภัยจากอากาศยาน ภัยเนื่องจากน้ำ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม ลมพายุ หรือแผ่นดินไหว (เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด) ซึ่งจะครอบคลุมมากกว่าประเภทแรก
2.การประกันภัยรถยนต์ (Motor Insurance)
แบ่งออกเป็น 2 ประเภทย่อย ๆ ได้แก่
- การประกันภัยรถภาคบังคับ : การประกันภัยรถภาคบังคับนี้เป็นประกันภัยที่กฎหมายบังคับว่าเจ้าของรถที่ใช้หรือมีรถจะต้องมีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัย เพื่อให้เกิดความคุ้มครองแก่ชีวิต และร่างกายของประชาชนที่ปะสบภัย
- การประกันภัยรถภาคสมัครใจ : การประกันภัยรถภาคสมัครใจจะเป็นรูปแบบการประกันภัยเพื่อประกันความเสียหายที่เกิดจากการใช้รถยนต์ เช่น ความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่รถยนต์ ความเสียหายที่รถยนต์ได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่ร่างกายและทรัพย์สินของบุคคลภายนอก รวมทั้งบุคคลที่โดยสารอยู่ในรถยนต์ แบ่งประเภทความคุ้มครองออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
- ความคุ้มครองความรับผิดต่อชีวิต ร่างกาย หรืออนามัยของบุคคลภายนอกและผู้โดยสารในรถ (Third Party Bodily Injury : TPBI)
- ความคุ้มครองความรับผิดต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอก (Third Party Property Damage : TPPD)
- ความคุ้มครองความรับผิดต่อความเสียหายของตัวรถยนต์ (Own Damage : OD)
- ความคุ้มครองความรับผิดต่อความสูญหายและไฟไหม้ของตัวรถยนต์ (Fire and Theft : F& T)
ซึ่งประเภทของกรมธรรม์ประกันภัยรถภาคสมัครใจจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 (Comprehensive) ที่คุ้มครองทั้ง 4 ประเภทข้างต้น, กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 2 (Third Party, Fire and Theft) ที่คุ้มครองประเภทที่ 1 2 และ 4 และประเภทสุดท้ายคือ กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 3 (Third Party Liability Only) ที่คุ้มครองประเภทที่ 1 และ 2 เท่านั้น
3.การประกันภัยทางทะเล (Marine Insurance)
คือ การประกันภัยที่คุ้มครองความสูญเสียหรือความเสียหายต่อเรือ ทรัพย์สิน หรือสินค้าที่อยู่ในระหว่างการขนส่งทางทะเล นอกจากนี้ประกันภัยทางทะเลยังขยายของเขตความคุ้มครองเพื่อรับประกันการขนส่งสินค้าทางอากาศและทางบกที่ต่อเนื่องกับการขนส่งทางทะเลอีกด้วย แบ่งออกเป็น 2 ประเภทย่อย ๆ ได้แก่
- ประกันภัยตัวเรือ (Marine Hull Insurance)
- ประกันภัยสินค้า (Marine Cargo Insurance)
4.การประกันภัยเบ็ดเตล็ด (Miscellaneous Insurance)
คือ การประกันภัยเพื่อคุ้มครองความเสียหายอันเกิดจากเหตุอื่น ๆ ที่ไม่ได้คาดหมาย เช่น การประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล การประกันภัยความรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอก การประกันภัยเครื่องจักรชำรุดเสียหาย ฯลฯ
วิธีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของประกันวินาศภัยมีอะไรบ้าง?
- จ่ายเป็นตัวเงิน (Cash Payment) : เป็นวิธีที่ง่ายที่สุด นิยมที่สุดเพราะสะดวกกับทุกฝ่าย
- การซ่อมแซม (Repair) : ในบางกรณีที่เกิดความเสียหายแค่บางส่วนและสามารถใช้วิธีซ่อมแซมเพื่อให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้ก็สามารถชดใช้ค่าสินไหมทดแทนด้วยวิธีนี้ได้ค่ะ
- การหาของมาทดแทน (Replacement) : การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนด้วยวิธีนี้นั้น ของที่จะนำมาทดแทนต้องเป็นของที่มีชนิด ประเภท และคุณภาพแบบเดียวกันกับทรัพย์สินที่จะทดแทนให้
- การกลับคืนสู่สภาพเดิม (Reinstatement) : เป็นการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนด้วยการทำให้ทรัพย์สินที่เอาประกันภัยไว้กลับคืนสู้สภาพเดิมเหมือนกับก่อนจะเกิดวินาศภัย ซึ่งในกรณีนี้จะต้องไม่สามารถใช้วิธีซ่อมแซม หรือหาของมาทดแทนได้ เช่น โรงงานถูกเพลิงไหม้ทั้งหมด ผู้รับประกันภัยต้องก่อสร้างโรงงานนั้นขึ้นใหม่เพื่อชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันวินาศภัย คลิก
ส่งท้ายก่อนจะจากกัน : ประกันวินาศภัยควรหรือไม่ควรทำ?
วินาศภัยแต่ละประเภทล้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดการณ์มาก่อนล่วงหน้า ถ้าหากว่าท่านไม่ได้ทำประกันเอาไว้ ความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นท่านจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบภาระทั้งหมดแต่เพียงผู้เดียวค่ะ ดังนั้นการทำประกันจึงเกิดขึ้นมาเพื่อกระจายความเสียหายและแบ่งเบาภาระเหล่านั้นแทนท่านนั่นเอง อย่าปล่อยให้เหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นก่อนเลยค่ะทำประกันเอาไว้ดีกว่า