Contents
ประกันชีวิตคืออะไร?
ประกันชีวิตคือประกันประเภทหนึ่งที่เป็นการทำสัญญาระหว่างทางบริษัทประกันและผู้เอาประกัน โดยประกันชีวิตจะคุ้มครองเฉพาะกรณีเสียชีวิตเท่านั้น เมื่อผู้เอาประกันเสียชีวิต ผู้รับผลประโยชน์จะได้รับจำนวนเงินตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์หรือถ้าหากผู้เอาประกันมีชีวิตอยู่ในช่วงระยะเวลาที่กำหนดทางบริษัทก็จะจ่ายเงินคืนแก่ผู้เอาประกันค่ะ
แต่ในบทความนี้จะมาไขข้อข้องใจให้กับเพื่อนๆ หลายๆ คนที่อาจสงสัยเกี่ยวกับผู้รับผลประโยชน์ว่าหากผู้เอาประกันเสียชีวิตแล้ว ใครจะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์กันแน่
ในพันทิปเองก็มีปัญหาเกี่ยวกับผู้รับผลจากประกันชีวิตเช่นเดียวกันค่ะ
ความคิดเห็นจากสมาชิกพันทิป คุณ Suchon 1991
เข้าเรื่องเลยนะครับ
ผมจะทำประกันชีวิต ให้แม่(แท้ๆ) จะทำได้ไหม แล้วถ้าผมทำ แม่ผมเค้าจะได้ รับผลประโยชน์ไหมครับ เพราะในทะเบียนบ้านเค้าไม่ได้เป็นมารดา ผม
ซึ่งในส่วนของผู้รับประโยชน์ก็ดูท่าจะเป็นปัญหาใหญ่ของผู้เอาประกันประมาณหนึ่งเลยทีเดียว ในบทความนี้จึงจะมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับผู้รับผลประโยชน์จากประกันให้เพื่อนๆ ได้ทราบกันค่ะ
ลำดับของผู้รับผลประโยชน์จากประกันชีวิต
แน่นอนว่าผลประโยชน์ประกันชีวิตจะตกเป็นของมรดกหรือทายาทผู้ทำประกัน ซึ่งชื่อที่มีสิทธิ์ได้รับมรดกหรือสิทธิประโยชน์มี 6 ลำดับขั้น คือ
1 บุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว บุตรบุญธรรม
2 บิดา มารดา
3 พี่น้องร่วมบิดามารดา
4 พี่น้องต่างบิดาหรือต่างมารดา
5 ปู่ ย่า ตา ยาย
6 ลุง ป้า น้า อา
ซึ่งผู้ทำประกันสามารถระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์ได้ตามที่ต้องการ จะระบุเพียง 1 คน หรือมากกว่า 1 คนก็ได้ แต่หากระบุมากกว่า 1 คนก็จะต้องระบุสัดส่วนของผลประโยชน์ที่แต่ละคนจะได้รับให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นแล้วทางบริษัทประกันจะแบ่งทรัพย์สินหรือผลประโยชน์ให้ในจำนวนเท่ากัน
แต่หากมีกรณีที่ผู้ทำประกันไม่ได้ระบุผู้รับผลประโยชน์ก็อาจเกิดปัญหาใหญ่ตามมา เช่น แย่งผลประโยชน์หรือมรดกจนถึงขั้นฟ้องร้อง มีผู้ที่ไม่ต้องยกผลประโยชน์หรือมรดกให้รวมอยู่ในชื่อผู้มีสิทธิ์ได้รับมรดก เป็นต้น เป็นเหตุให้ควรระบุผู้รับผลประโยชน์ให้ชัดเจน และหากไม่ได้ระบุไว้จริงๆ โดยทั่วไปแล้วทางบริษัทประกันจะกำหนดให้ผู้ทำประกันและผู้รับผลประโยชน์ต้องมีความสัมพันธ์ทางสายเลือดหรือทางกฎหมาย เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการฆาตกรรมผู้ทำประกันเพื่อเงินประกัน โดยจะแบ่งออกเป็น 3 ลำดับขั้น ได้แก่
ลำดับที่ 1 – คู่สมรส บุตรหรือบุตรบุญธรรมตามกฎหมาย
ลำดับที่ 2 – พ่อ แม่ พี่ น้อง
ลำดับที่ 3 – ปู่ ย่า ตา ยาย พี่ ป้า น้า อา (เครือญาติ)
นอกจากนี้ผู้ทำประกันยังสามารถระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์เป็นผู้ที่ไม่ได้มีนามสกุลเดียวกับตน กล่าวคือคนละนามสกุล ไม่เกี่ยวพันทางสายเลือดได้ แต่ในทางปฏิบัติแล้วบริษัทประกันอาจร้องขอให้เปลี่ยนผู้รับผลประโยชน์ที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดหรือกฎหมายแทน
เปลี่ยนชื่อผู้รับผลประโยชน์จากประกันได้หรือไม่
คำตอบคือได้ แต่ต้องเป็นกรณีเมื่อยังไม่ส่งมอบกรมธรรม์ให้แก่ผู้รับผลประโยชน์ และผู้รับผลประโยชน์ยังไม่ได้ทำหนังสือแจ้งแก้บริษัทประกันว่าตนเองจะขอรับผลประโยชน์ตามกรมธรรม์
*หากผู้ทำประกันได้ส่งมอบกรมธรรม์ให้แก่ผู้รับผลประโยชน์แล้วและผู้รับประโยชน์ได้ทำหนังสือแจ้งแก่บริษัทประกันแล้ว จะไม่สามารถเปลี่ยนผู้รับผลประโยชน์ได้ เว้นเสียแต่ว่าจะหยุดส่งเบี้ยประกันหรือเวนกรมธรรม์คืน
และหากเกิดกรณีที่ผู้รับประโยชน์เสียชีวิตก่อนผู้ทำประกัน ผู้ทำประกันสามารถเปลี่ยนผู้รับผลประโยชน์ได้ หากไม่เปลี่ยนแล้วผู้ทำประกันเสียชีวิต ผลประโยชน์จะตกไปสู่กองมรดกหรือทายากของผู้ทำประกัน
บทส่งท้ายกับผู้เขียน : ไขข้อข้องใจ! ผู้รับผลประโยชน์จากประกันชีวิตเป็นใครได้บ้าง
สำหรับเพื่อนๆ ที่ทำประกันชีวิตแล้วมีข้อสงสัยในส่วนของผู้รับผลประโยชน์ก็น่าจะเข้าใจมากขึ้นจากบทความนี้ไม่มากก็น้อยนะคะ แต่ผู้เขียนขอแนะนำว่าให้เพื่อนๆ ระบุชื่อผู้รับผลประโยชน์ลงไปในกรมธรรม์เลยจะชัดเจนและไม่สับสนที่สุดค่ะ!