เทคโนโลยี e-KYC กับประโยชน์ในการยืนยัน และปกป้องตัวเองจากการถูกโจรกรรมทางการเงิน
ในยุคที่การโจรกรรม... หลอกลวงและฟอกเงินอย่างผิดกฎหมายกลายเป็นประเด็นร้อนไปทั่วโลก ทำให้กลายมาเป็นประเด็นความท้าทายอย่างมากของสถาบันทางการเงินและธุรกิจที่เกี่ยวข้องด้านการเงินว่าจะทำอย่างไรจึงจะสามารถรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้!? สำหรับหนึ่งในวิธีการแก้ปัญหาที่ได้รับความนิยมกันเป็นอย่างมาก ณ ปัจจุบัน ก็คงจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกเสียจากเทคโนโลยี e-KYC นั่นเอง ส่วน e-KYC จะมีความน่าสนใจอย่างไร และมีประโยชน์มากแค่ไหน!? มาฟังข้อมูลเจาะลึกจากบทความชิ้นนี้กันได้เลย
e-KYC คืออะไร!? มีความสำคัญอย่างไร!?
e-KYC คือ การยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (electronic Know-Your-Customer) หรือ การทำความรู้จักกับลูกค้าผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ ในการระบุตัวตนและยืนยันตัวตนที่สะดวกรวดเร็วมากขึ้นกว่าเดิม แทนการทำ KYC แบบเดิม ที่มีความยุ่งยากเสียเวลา เพราะจะต้องให้ผู้ทำการยืนยันตัวตนต้องทำการกรอกข้อมูล ส่งเอกสาร รวมไปถึงการเดินทางไป “แสดงตัวตน” ต่อหน้าของเจ้าหน้าที่สถาบันทางการเงิน
ประโยชน์ที่น่าสนใจของระบบ e-KYC
ระบบ e-KYC มีประโยชน์อย่างมากในปัจจุบัน โดยสามารถทำการสรุปประโยชน์ที่ควรทราบออกเป็นประเด็นได้ดังต่อไปนี้
3.e-KYC เหมาะกับประเทศที่ผู้คนมาเข้าถึงบริการทางการเงินได้อย่างสะดวก
หลายประเทศได้มีการนำเอาระบบ e-KYC มาใช้ในการช่วยยืนยันตัวเองได้อย่างชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่มีประชากรจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลจนเกิดความยากลำบากในการเข้าถึงบริการทางการเงิน
2.e-KYC เป็นการทำธุรกรรมการเงินแบบไร้สัมผัส
การทำธุรกรรมการเงินแบบไร้สัมผัส นอกจากจะเป็นการช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการทำธุรกรรมแล้ว ยังถือว่ามีความสำคัญอย่างมากในยุคที่ผู้คนจำเป็นต้องปรับตัวให้กับ New Normal ที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การเดินทางไปทำธุรกรรมทางการเงินกลายเป็นเรื่องยาก และการทำ e-KYC ยังเป็นการช่วยลดการสัมผัสที่นำไปสู่การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้เป็นอย่างดีอีกด้วย
3.e-KYC ช่วยป้องกันการฟอกเงิน และการโจรกรรมทางการเงิน
e-KYC ยังช่วยในการยืนยันตัวตนของผู้ทำธุรกรรม ที่นอกจากจะช่วยป้องกันการโจรกรรมทางการเงินที่เพิ่มสูงมากขึ้นทุกปีแล้ว ยังเป็นการช่วยป้องกันปัญหาการฟอกเงิน และเป็นการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินให้กับผู้ก่อการร้าย เป็นต้น เพราะเป็นการระบุไอดีที่เป็นกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล ทำให้เกิดการปลอมแปลงลอกเลียนแบบได้ยาก
4.e-KYC ผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องมีทักษะความรู้ด้านเทคโนโลยี
กระบวนการทำงานของ e-KYC เป็นสิ่งที่เรียบง่าย ทำให้ผู้ที่ใช้งานไม่จำเป็นที่จะต้องมีทักษะความรู้ด้านเทคโนโลยี และมีประโยชน์อย่างมากสำหรับคนที่ไม่รู้หนังสือ
5.e-KYC ช่วยให้การทำธุรกรรมการเงินสะดวกรวดเร็วมากขึ้น
e-KYC ยังช่วยให้การทำธุรกรรมทางการเงินมีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น เนื่องจากช่วยลดขั้นตอนการตรวจสอบบุคคล ลดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการดำเนินการได้ นอกจากนี้การจัดสรรทรัพยากรให้กับลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว ยังเป็นการช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าได้อีกด้วย
ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้เทคโนโลยี e-KYC
ถึงแม้ว่าเทคโนโลยี e-KYC จะเต็มไปด้วยข้อดีมากมาย แต่ถ้าหากสถาบันทางการเงินจะนำมาใช้ก็จำเป็นที่จะต้องป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นให้มีความรัดกุมมากที่สุด โดยความเสี่ยงดังกล่าว อาทิเช่น
- การเก็บและตรวจสอบข้อมูลการแสดงตน
- ความถูกต้องของเอกสารแสดงตนที่กำหนด
- การตรวจสอบเปรียบเทียบว่าผู้ยืนยันตน เป็นบุคคลเดียวกับในเอกสารแสดงตนหรือไม่
- ขั้นตอนการให้ทำการยืนยันตัวตนที่สะดวก ง่ายดายและไม่ยุ่งยาก
- การรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่รัดกุม และเป็นไปตามที่หน่วยงานกำกับดูแลได้กำหนดเอาไว้
เทคโนโลยี e-KYC ที่น่าสนใจในประเทศไทย
ณ ปัจจุบัน ในประเทศไทยได้มีการอนุญาตให้ใช้เทคโนโลยี “จดจำและเรียนรู้ใบหน้า” (Biometric facial recognition) มาใช้ในการยืนยันตัวตนในการ “เปิดบัญชีเงินฝากระยะไกล” (Remote account opening) โดยมี 6 ธนาคารที่ได้รับการอนุญาต ดังต่อไปนี้
- ธนาคารกสิกรไทย
- ธนาคารกรุงเทพ
- ธนาคารไทยพาณิชย์
- ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
- ธนาคารทหารไทย
- ธนาคาร CIMB ไทย จำกัด
นอกจากนี้ทั้ง 6 ธนาคารในข้างต้น ยังใช้เทคโนโลยี e-KYC มาช่วยทำการพิสูจน์ตัวตนลูกค้าจาก แพลตฟอร์มบริการยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัล (National Digital ID – NDID) จากบันทึกประวัติการทำธุรกรรมทางการเงินของประชาชน ช่วยลดจำนวนคนที่เข้าใช้บริการกับทางธนาคารให้น้อยลงในช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
บทสรุปส่งท้าย : e-KYC เทคโนโลยียืนยันตัวตนแห่งอนาคต
e-KYC... เป็นเทคโนโลยีที่สำคัญอย่างมากในการทำธุรกรรมด้านการเงินที่สถาบันการเงินทุกแห่ง และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเงินควรให้ความใส่ใจในการพัฒนาเพื่อให้สามารถใช้งานได้อย่างง่ายดาย สะดวกและรวดเร็วมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม เพราะเป็นการช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับการทำธุรกรรมทางการเงินให้มากยิ่งขึ้น ท่ามกลางโลกแห่งการโจกรรมข้อมูลที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี ณ ปัจจุบัน...