ยืนยันตัวตน KYC เรื่องสำคัญใกล้ตัวที่ทุกคนควรรู้!
ยืนยันตัวตน KYC… อาจเป็นชื่อบริการที่คนทั่วไปอาจฟังไม่ค่อยคุ้นหูกันนัก แต่ที่จริงแล้วมันเป็นบริการที่อยู่ใกล้ตัวและมีความสำคัญในการทำธุรกรรมทางการเงินเป็นอย่างมากเลยทีเดียว ดังนั้น ยืนยันตัวตน KYC จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนควรให้ความใส่ใจเป็นอย่างมาก เพื่อเตรียมตัวเองให้พร้อมสำหรับการทำ KYC เพื่อที่จะได้เตรียมตัวและเตรียมเอกสารที่ช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็วให้กับตัวเองมากยิ่งขึ้น ส่วน KYC จะมีความสำคัญอย่างไร และมีขั้นตอนอย่างไรกันบ้าง รับรองว่าบทความชิ้นนี้จะมีคำตอบให้อย่างแน่นอน...
KYC คืออะไร!?
KYC ย่อมาจากคำว่า “Know Your Customer” หากแปลเป็นไทยอย่างตรงตัวก็คือ “กระบวนการทำความรู้จักกับลูกค้า” ที่ช่วยในการระบุและพิสูจน์ตัวตนของลูกค้าได้อย่างถูกต้อง (Identification and Verification) นอกจากนี้ KYC เป็นส่วนหนึ่งของ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพราะธนาคารและสถาบันทางการเงินเป็นเส้นทางการเงินที่เปิดโอกาสให้เกิดการก่ออาชญากรรม
KYC จึงเป็นการยืนยันและป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการโจรกรรมที่ ณ ปัจจุบันได้มีการเพิ่มจำนวนมากขึ้น รวมไปถึงช่องทางในการขโมยข้อมูลเองก็ได้รับการพัฒนามากขึ้นตามไปด้วยการอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้เกิดการขโมยเลขบัตรเครดิตหรือเลขประกันสังคม เป็นต้น เกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายมากขึ้น
จากกฎหมายดังกล่าว ทำให้มีการบังคับให้ธนาคารและสถาบันทางทางการเงินต้องทำการตรวจสอบลูกค้าทุกคนที่ทำการเปิดบัญชี เช่น บุคคลธรรมดา นิติบุคคล บุคคล ที่ไม่มีความสามารถตามกฎหมาย (ผู้เยาว์) และองค์กรที่ไม่ใช้นิติบุคคล เช่น ชมรมชุมชน เป็นต้น ด้วยการทำ KYC นั่นเอง อย่างไรก็ตาม KYC ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะโดยทั่วไปแล้วไม่ว่าจะเป็นการเปิดบัญชีธนาคารหรือทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ผู้ใช้งานจะต้องทำการเปิดเผยข้อมูลและผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริงในข้อมูลของลูกค้าหรือ CDD ที่ย่อมาจาก Customer Due Diligence เป็นต้น
e-KYC คืออะไร
e-KYC คือ การยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ (electronic Know-Your-Customer) หรือ การทำความรู้จักกับลูกค้าผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ ในการระบุตัวตนและยืนยันตัวตนที่สะดวกรวดเร็วมากขึ้นกว่าเดิม แทนการทำ KYC แบบเดิม ที่มีความยุ่งยากเสียเวลา เพราะจะต้องให้ผู้ทำการยืนยันตัวตนต้องทำการกรอกข้อมูล ส่งเอกสาร รวมไปถึงการเดินทางไป “แสดงตัวตน” ต่อหน้าของเจ้าหน้าที่สถาบันทางการเงิน นอกจากนี้การทำ e-KYC กลายมาเป็นตัวช่วยชั้นยอด ให้ผู้คนสามารถทำธุรกรรมทางการเงินในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 อีกด้วย
สถาบันทางการเงินใดบ้างที่ต้องทำขั้นตอน KYC
สำหรับธนาคารและสถาบันทางการเงินที่ต้องทำ KYC และ CDD ภายใต้ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน มี 3 หน่วยงาน ดังต่อไปนี้
- สถาบันทางการเงิน
- บริษัทที่ปรึกษาทางด้านการเงินที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต)
- บริษัทให้บริการ อีเพย์เมนท์ (e-payment) การให้บริการด้านการเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์
ขั้นตอนยืนยันตัวตน KYC มีอะไรบ้าง!?
อย่างที่ได้กล่าวกันไปแล้วในตอนต้นว่าการยืนยันตัวตน KYC กลายมาเป็นมาตรฐานที่มีความสำคัญอย่างมากกับสถาบันทางการเงินในปัจจุบัน ทำให้จำเป็นที่จะต้องได้รับการยืนยันตัวตน KYC โดยสถาบันการเงินแต่ละแห่งก็จะมีวิธีการที่แตกต่างกันเล็กน้อย แต่โดยรวมแล้วจะมีการเรียกขอเอกสารประกอบการทำการยืนยันตัวตน KYC และขั้นตอนที่ควรทราบเพื่อเตรียมตัวเองให้พร้อมสำหรับการทำการยืนยันตัวตน KYC ดังต่อไปนี้
เอกสารที่จำเป็นสำหรับการยืนยันตัวตน KYC ทั่วไป
1.บัตรประจำตัวประชาชน
2.ผู้สมัครทำธุรกรรมทางการเงิน (*แสดงตัวต่อหน้าเจ้าหน้าที่)
เอกสารการยืนยันตัวตน e-KYC
1.อีเมลและรหัสผ่านที่ได้ทำการลงทะเบียนเอาไว้กับสถาบันทางการเงิน
2.รูปบัตรประจำตัวประชาชนด้านหน้าและด้านหลัง
3.ภาพถ่ายใบหน้าของผู้สมัครในเวลานั้น ในบางสถาบันการเงินอาจให้ ผู้สมัครทำการถ่ายภาพของตัวเองถือบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมกระดาษเขียนชื่อสถาบันทางการเงินที่ต้องทำการสมัคร พร้อมวันที่และลงลายเซ็นชื่อกำกับเอาไว้
ขั้นตอนการยืนยันตัวตน e-KYC
1.เข้าสู่เว็บไซต์หรือแอปฯ ของสถาบันการเงิน
2.เลือก “ยืนยันตัวตน”
3.กรอกอีเมลและรหัสผ่านที่ได้ทำการลงทะเบียนเอาไว้กับสถาบันทางการเงิน
4.แนบรูปถ่ายของผู้สมัครเพื่อใช้ในการยืนยันตัวบุคคล
5.กรอกข้อมูลทั่วไป เช่น ชื่อ-นามสกุล วัน/เดือน/ปีเกิด หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน (ในบางครั้งอาจให้กรอกทั้งด้านหน้าและด้านหลัง)
6.กรอกข้อมูลการศึกษา ประสบการณ์ทำงาน
บทสรุปส่งท้าย : การยืนยันตัวตน KYC เป็นสิ่งที่ดีหรือเปล่า!?
การยืนยันตัวตนทั้ง KYC และ e-KYC นับว่ามีประโยชน์อย่างมากสำหรับธุรกรรมการเงิน ที่ช่วยในการป้องกันการทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย ในขณะที่ e-KYC ก็ยังมีประโยชน์อย่างมากในเชิงพาณิชย์ที่เกิดขึ้นตามข้อกำหนดใหม่เมื่อไม่สามารถทำการยืนยันตัวตนได้เหมือนกับที่เคยทำมาในอดีต ที่สำคัญคือ ทำให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่จำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสวิด-19 อย่างที่ผ่านมานั่นเอง...