Contents
- 1 ระบบ KYC คืออะไร!? ทำไมนักธุรกิจและนักการเงินรุ่นใหม่ควรรู้จัก!?
- 2 ปัญหาที่นำมาสู่การพัฒนาระบบ KYC
- 3 KYC หรือ Know Your Customer
- 4 กระบวนการ KYC ประกอบด้วยขั้นตอนสำคัญอะไรบ้าง!?
- 5 1.การแสดงตัวตนของลูกค้า (Identification)
- 6 2.การพิสูจน์ตัวตนลูกค้า (Verification)
- 7 ระบบเทคโนโลยีที่นิยมนำมาใช้ในการทำ KYC
- 8 1.Biometric Authentication
- 9 2.Digital ID verification
- 10 3.Geolocation and Identity Verification
- 11 บทสรุปส่งท้าย : ระบบ KYC ช่วยลดปัญหาการทำธุรกรรมทางการเงินอย่างไม่ถูกกฎหมายได้จริงหรือเปล่า!?
ระบบ KYC คืออะไร!? ทำไมนักธุรกิจและนักการเงินรุ่นใหม่ควรรู้จัก!?
โลกที่ก้าวหน้าขึ้น... มาพร้อมกับเทคโนโลยีอันก้าวล้ำที่ช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้กับการใช้ชีวิตที่มากขึ้นกว่าเดิม แต่ในขณะเดียวกันเหล่ามิจฉาชีพที่ซ่อนตัวอยู่ในเงามมืด พร้อมกับฉวยโอกาสในการหาผลประโยชน์จากช่องโหว่ของเทคโนโลยีเองก็มีมากขึ้นเป็นเงาตามตัวด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในเรื่องของ “ธุรกรรมการเงิน” ที่เป็นเรื่องสำคัญเป็นอย่างมากเลยทีเดียว ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกกฎเกณฑ์ข้อบังคับในการทำระบบ KYC ของสถาบันทางการเงินขึ้น โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจและควรทราบ ดังต่อไปนี้
ปัญหาที่นำมาสู่การพัฒนาระบบ KYC
ทางธนาคารแห่งประเทศไทยพบปัญหาว่า ระบบการยืนยันตัวตนแบบเดิมมีปัญหาช่องโหว่ในการพิสูจน์ตัวตนของผู้ที่ทำธุรกรรมทางการเงิน เช่น การนำบัตรประจำตัวประชาชนของบุคคลอื่น หรือแอบอ้างตัวตนของบุคคลอื่นมาใช้ในการเปิดบัญชีเงินฝาก เป็นต้น นอกจากนี้บุคคลเหล่านี้ ยังนำบัญชีเงินฝากเหล่านี้มาแสวงหาผลประโยชน์ในทางมิชอบ ที่ส่งผลกระทบทางกฎหมายเป็นอย่างมาก
KYC หรือ Know Your Customer
KYC ย่อมาจากคำว่า “Know Your Customer” หากแปลเป็นไทยอย่างตรงตัวก็คือ “กระบวนการทำความรู้จักกับลูกค้า” ที่ช่วยในการระบุและพิสูจน์ตัวตนของลูกค้าได้อย่างถูกต้อง (Identification and Verification) นอกจากนี้ KYC เป็นส่วนหนึ่งของ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เพราะธนาคารและสถาบันทางการเงินเป็นเส้นทางการเงินที่เปิดโอกาสให้เกิดการก่ออาชญากรรม
KYC จึงเป็นการยืนยันและป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการโจรกรรมที่ ณ ปัจจุบันได้มีการเพิ่มจำนวนมากขึ้น รวมไปถึงช่องทางในการขโมยข้อมูลเองก็ได้รับการพัฒนามากขึ้นตามไปด้วยการอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ทำให้เกิดการขโมยเลขบัตรเครดิตหรือเลขประกันสังคม เป็นต้น เกิดขึ้นได้อย่างง่ายดายมากขึ้น
จากกฎหมายดังกล่าว ทำให้มีการบังคับให้ธนาคารและสถาบันทางทางการเงินต้องทำการตรวจสอบลูกค้าทุกคนที่ทำการเปิดบัญชี เช่น บุคคลธรรมดา นิติบุคคล บุคคล ที่ไม่มีความสามารถตามกฎหมาย (ผู้เยาว์) และองค์กรที่ไม่ใช้นิติบุคคล เช่น ชมรมชุมชน เป็นต้น ด้วยการทำ KYC นั่นเอง อย่างไรก็ตาม KYC ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะโดยทั่วไปแล้วไม่ว่าจะเป็นการเปิดบัญชีธนาคารหรือทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆ ผู้ใช้งานจะต้องทำการเปิดเผยข้อมูลและผ่านการตรวจสอบข้อเท็จจริงในข้อมูลของลูกค้าหรือ CDD ที่ย่อมาจาก Customer Due Diligence เป็นต้น
กระบวนการ KYC ประกอบด้วยขั้นตอนสำคัญอะไรบ้าง!?
สำหรับกระบวนการระบบ KYC ที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ทำการกำหนดเอาไว้ มีขั้นตอนที่สำคัญน่าสนใจ ดังต่อไปนี้
1.การแสดงตัวตนของลูกค้า (Identification)
ข้อมูล เอกสารและหลักฐานการแสดงตนที่บ่งบอกถึงตัวลูกค้าตามประเภทของลูกค้าโดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งข้อมูลและเอกสารหลักฐานการแสดงตัวตนดังกล่าว รวมไปถึงข้อมูลและเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ตามด้วย
2.การพิสูจน์ตัวตนลูกค้า (Verification)
ข้อมูลและเอกสารหลักฐานการแสดงตัวตนของลูกค้ามาตรวจสอบความถูกต้อง ความแท้จริงและความเป็นปัจจุบัน รวมถึงต้องพิสูจน์ว่าเป็นลูกค้ารายนั้นจริง โดยมีกระบวนการปฏิบัติงานภายในที่มีความรัดกุมและเหมาะสม ผ่านกระบวนการดังต่อไปนี้
- การพิสูจน์ตัวตนลูกค้าแบบพบเห็นลูกค้าต่อหน้า (Face-to-Face) และการพิสูจน์ตัวตนลูกค้าแบบไม่พบเห็นลูกค้าต่อหน้า (Non Face-to-Face)
- การพิสูจน์ตัวตนลูกค้าด้วยระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล
ระบบเทคโนโลยีที่นิยมนำมาใช้ในการทำ KYC
สำหรับเทคโนโลยีที่นำมาใช้กับระบบ KYC ของสถาบันทางการเงินที่กำลังได้รับความนิยม มีดังต่อไปนี้
1.Biometric Authentication
เป็นเทคโนโลยีป้องกันการทำ KYC ด้วยการเข้าระบบผ่านการยืนยันตัวตนโดยอาศัยข้อมูลทางชีวมิติ เช่น ลายนิ้วมือ ม่านตา การจดจำใบหน้า เป็นต้น
2.Digital ID verification
การยืนยันตัวตนโดยอาศัยการถ่ายภาพหนังสือเดินทาง (Passport) บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรเครดิต เป็นต้น เพื่อส่งต่อให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อเป็นการยืนยันตัวตนต่อไป
3.Geolocation and Identity Verification
เป็นการยืนยันตัวตน ด้วยการนำสถานที่ในการทำธุรกรรม เข้ามาช่วยในการตรวจสอบอีกชั้นหนึ่งของ Mobile APP ว่าที่อยู่ ณ บริเวณนั้น มีการทำธุรกรรมจริงๆ
บทสรุปส่งท้าย : ระบบ KYC ช่วยลดปัญหาการทำธุรกรรมทางการเงินอย่างไม่ถูกกฎหมายได้จริงหรือเปล่า!?
โดยรวมแล้ว... ระบบ KYC สามารถช่วยในการคัดกรองและสร้างความยุ่งยากลำบากให้กับเหล่ามิจฉาชีพให้มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันหากระบบ KYC มีประสิทธิภาพที่มากขึ้น ก็จะช่วยเพิ่มเติมความรวดเร็วในการยืนยันตัวตนของลูกค้าได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้าในอนาคตกว่าเดิมอย่างแน่นอน...