- การประกันภัย คือ ทางเลือกสำหรับช่วยในการบรรเทาความเดือดร้อน ในกรณีที่เกิดความเสียหายถึงชีวิตและความเสียหายต่อทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ได้มีการทำประกันภัยเอาไว้ เป็นการเฉลี่ย กระจายความเสี่ยงไปยังสมาชิกคนอื่น ๆ ที่ได้ทำเอาไว้กับบริษัทประกันภัยเดียวกัน
- ประกันภัยแบ่งได้ 2 ประเภทหลัก ๆ คือ แบ่งตามประมวลกฎหมายเเพ่งและพาณิชย์ กับประกันภัยที่แบ่งตามหลักวิชาการประกันภัย
- ประกันภัยตามประมวลกฎหมายเเพ่งและพาณิชย์ คือ การประกันวินาศภัย และการประกันชีวิต
- ประกันภัยตามหลักวิชาการประกันภัย คือ ประกันภัยส่วนบุคคล ประกันภัยทรัพย์สินและประกันภัยความรับผิดชอบตามกฎหมาย
Contents
มาทำความรู้จักกับประกันภัย ความหมายและการเลือกให้เหมาะกับตัวเอง
“การประกันภัย” เป็นหนึ่งในรูปแบบของการวางแผนแห่งอนาคตที่เรียกได้ว่ามีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการช่วยการันตีว่าหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้นมาในอนาคตจะได้รับการช่วยเหลือจากการประกันภัยอย่างเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะตัดสินใจทำประกันภัย ลองมาทำความรู้จักกับประกันภัยว่ามันคืออะไร มีความน่าสนใจอย่างไรและควรเลือกแบบไหนถึงจะเหมาะสมกับตัวเองที่สุด โดยรายละเอียดทั้งหมดได้ทำการรวบรวมเอามาไว้ในบทความชิ้นนี้กันแล้ว
การประกันภัย คืออะไร?
การประกันภัย (Insurer) คือ ทางเลือกสำหรับช่วยในการบรรเทาความเดือดร้อน ในกรณีที่เกิดความเสียหายถึงชีวิตและความเสียหายต่อทรัพย์สินต่าง ๆ ที่ได้มีการทำประกันภัยเอาไว้ เป็นการเฉลี่ย กระจายความเสี่ยงไปยังสมาชิกคนอื่น ๆ ที่ได้ทำเอาไว้กับบริษัทประกันภัยเดียวกัน โดยบริษัทประกันภัยทำหน้าที่ในการเก็บเบี้ยประกันและชดเชยค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัย หรือผู้รับผลประโยชน์ตามที่ได้ระบุเอาไว้ในสัญญา
การทำประกันภัย เป็นการตกลงร่วมกันระหว่างสองบุคคลคือ “บริษัทประกันภัย” กับ “ผู้เอาประกันภัย” มีการตกลงกันในลักษณะของการทำสัญญาประกันภัยที่เรียกกันว่า “กรมธรรม์ประกันภัย” คู่สัญญามีหน้าที่ในการรับผิดชอบต่อกันและกัน โดยผู้เอาประกันภัยจะต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันตามที่ระบุเอาไว้ในสัญญาเพื่อให้ได้รับการคุ้มครองอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่บริษัทประกันภัยมีหน้าที่คุ้มครองผู้เอาประกันภัย เมื่อเกิดความเสียหายที่ต้องชดใช้ให้กับผู้เอาประกันตามที่ระบุเอาไว้ในสัญญา
การประกันภัย สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท มีอะไรกันบ้าง
โดยพื้นฐานแล้ว การประกันภัยสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท แบ่งตามประมวลกฎหมายเเพ่งและพาณิชย์ กับประกันภัยที่แบ่งตามหลักวิชาการประกันภัย โดยแต่ละประเภทก็จะมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป ดังต่อไปนี้
ประกันภัยแบ่งตามประมวลกฎหมายเเพ่งและพาณิชย์
การแบ่งประกันตามประมวลกฎหมายเเพ่งและพาณิชย์ สามารถทำการแบ่งประกันภัยออกได้เป็นสองรูปแบบ ดังต่อไปนี้
1.การประกันวินาศภัย (Non-Life Insurance)
ประกันภัยวินาศภัย เป็นการประกันทรัพย์สิน หรือวัตถุมีค่า เช่น รถยนต์ สิ่งของในบ้าน บ้านที่อยู่อาศัย เป็นต้น มาใช้เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความรับผิดชอบหากเกิดความเสียหายขึ้นในสัญญาของกรมธรรม์
2.การประกันชีวิต (Life Insurance)
การประกันภัยที่เน้นการชดเชยรายได้ที่ต้องสูญเสียไป เนื่องจากกรณีเสียชีวิต ทุพพลภาพถาวรและชราภาพ เป็นต้น บริษัทประกันภัยจะต้องทำการจ่ายเงินตามจำหน่วนที่ได้ระบุเอาไว้ให้แก่ผู้เอาประกันหรือผู้รับผลประโยชน์ที่ได้มีการระบุเอาไว้ในกรมธรรม์
การประกันภัยแบ่งตามหลักวิชาการประกันภัย
สำหรับการประกันภัยแบ่งตามหลักวิชาการประกันภัย สามารถแบ่งออกได้อีก 3 ประเภท ดังต่อไปนี้
1.ประกันภัยส่วนบุคคล
การประกันภัยส่วนบุคคล คือสัญญาที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับภัยที่เกิดขึ้น หรือความเสียหายอื่น ๆ ให้กับบุคคลที่ได้ทำประกันภัยเอาไว้ เช่น เสียชีวิต อุบัติเหตุ หรือต้องได้รับการรักษาพยาบาล เป็นต้น โดยประกันภัยส่วนบุคคลยังแยกย่อยได้อีก 3 ประเภทคือ ประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุและประกันสุขภาพ
2.ประกันภัยทรัพย์สิน
ประกันภัยทรัพย์สิน คือ สัญญาประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองเกี่ยวกับความเสียหายต่อทรัพย์สินในรูปแบบต่าง ๆ ตามที่ได้ระบุเอาไว้ในกรมธรรม์ บริษัทประกันภัยได้มีการตกลงที่จะจ่ายค่าสินไหมทดแทนหรือชดเชยเป็นเงินมูลค่าหนึ่งในกับผู้เอาประกันภัยในกรณีที่ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย โดยแบ่งเป็นสองกลุ่มคือ ประกันภัยทรัพย์สินส่วนบุคคล และประกันภัยทรัพย์สินของกิจการ
3.ประกันภัยความรับผิดชอบตามกฎหมาย
ประกันภัยความรับผิดชอบตามกฎหมาย เกิดขึ้นมาจากความรับผิดชอบต่าง ๆ ที่กฎหมายได้มีการกำหนดเอาไว้ ให้ความคุ้มครองความเสียหายในด้านต่าง ๆ ที่เป็นเหตุให้ผู้อื่นต้องได้รับความเสียหาย เช่น อาการบาดเจ็บ ทรัพย์สินเสียหาย หรือความเจ็บป่วย เป็นต้น โดยสามารถแบ่งออกได้อีก 3 ประเภทคือ ปประกันภัยความรับผิดชอบต่อสาธารณะ ประกันภัยความรับผิดชอบจากผลิตภัณฑ์และประกันภัยความรับผิดชอบจากวิชาชีพ เป็นต้น
ส่งท้ายก่อนจาก # ทำประกันภัยเอาไว้ดีไหม?
อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วในข้างต้นว่า การทำประกันภัยก็คือการกระจายความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวเองให้น้อยลงได้เป็นอย่างดี แถมการทำประกันภัยเองก็ยังได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีตามกฎหมายได้อีกด้วย ดังนั้น การทำประกันภัยเอาไว้ย่อมดีกว่าอย่างแน่นอน