Contents
เจาะลึกระบบบล็อกเชน นวัตกรรมใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลงการจัดเก็บข้อมูลและธุรกรรมของโลกไปตลอดกาล
สำหรับคนที่มักติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการนวัตกรรมใหม่ ๆ เชื่อว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาชื่อของ “ระบบบล็อกเชน” (Block Chain System) คงจะผ่านหูผ่านตากันมาบ้าง แถมระบบนี้ก็ยังได้รับการพัฒนาต่อยอดและนำไปใช้กับอุตสาหกรรมที่มีความหลากหลายมากขึ้นเรื่อย ๆ อีกด้วย
เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้คุณผู้อ่านตกขบวนรถไปสายเทคโนโลยี บทความในวันนี้จึงอยากขอพาไปทำความรู้จักกับระบบบล็อกเชนแบบเจาะลึกกันว่ามีข้อดีและความน่าสนใจอย่างไรกันบ้าง ทำไมถึงได้สามารถที่จะทำให้ทั่วโลกมีการกล่าวถึงกันอย่างกว้างขวางได้อย่างง่ายดาย
ระบบบล็อกเชน (Block Chain System) คืออะไร
ระบบบล็อกเชน เป็น “ระบบการบันทึกข้อมูล ที่มีคุณสมบัติที่ยากต่อการเปลี่ยนแปลง แฮ็คหรือโกงระบบเป็นไปได้ยากมากหรือเป็นไปไม่ได้” เดิมที่ระบบนี้ถูกคิดค้นขึ้นมาจากโครงการวิจัยในปี 1991 แต่เริ่มมีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายก่อนที่จะกลายมาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกจาก Bitcoin ในปี 2008
เหตุผลที่ทำให้มันยากต่อการเปลี่ยนแปลงมาจากการทำซ้ำบัญชีในรูปแบบของดิจิทัล หลังจากนั้นก็จะส่งบัญชีเหล่านั้นให้กระจัดกระจายไปทั่วเครือข่ายที่เชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ของผู้ที่เข้าร่วมเครือข่าย โดยข้อมูลแต่ละบล็อกที่เก็บข้อมูลเหล่านั้นจะถูกเชื่อมโดยห่วงโซ่ และทุกครั้งที่มีการทำธุรกรรมใหม่เกิดขึ้นบนเครือข่ายบล็อกเชน บันทึกของธุรกรรมเหล่านั้นก็จะถูกเพิ่มเอาไว้ในบัญชีแยกประเภทของสมาชิกในเครือข่ายทุกคน กลายมาเป็นฐานข้อมูลกระจายอำนาจที่มีการจัดการโดยผู้เข้าร่วมหลายคนที่เรียกกันว่า Distributed Ledger Technology (DLT) ด้วยลายเซ็นการเข้ารหัสที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่เรียกกันว่า Hash
ทำไมระบบบล็อกเชน ถึงมีความปลอดภัยสูง
จากคุณสมบัติในข้างต้น ทำให้เมื่อมีความพยายามในการเปลี่ยนแปลงข้อมูลในบล็อกใดก็ตาม สมาชิกที่ถูกเชื่อมต่อผ่านทางสายโซ่จะสามารถทราบได้ในทันทีว่าข้อมูลมีการดัดแปลงแก้ไข ดังนั้น หากมี Hacker พยายามที่จะทำการแก้ไขข้อมูล ก็จำเป็นที่จะต้องจัดการกับข้อมูลของสมาชิกเครือข่ายทั้งหมดพร้อม สิ่งนี้เองที่ทำให้ระบบบล็อกเชนมีการเติบโตเป็นอย่างมาก เพราะมีความปลอดภัยที่สูงมากนั่นเอง
ข้อดีของระบบบล็อกเชน
ระบบบล็อกเชน มีข้อดีหลายประการที่หากนำไปประยุกต์ใช้ก็จะสามารถสร้างแรงกระเพื่อมและอำนวยความสะดวกสบายให้กับหลากหลายวงการได้เช่นกัน สำหรับข้อดีของระบบบล็อกเชนสามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้
1.ระบบบล็อกเชนมีความปลอดภัยสูง
อย่างที่ได้กล่าวถึงไปแล้วในตอนต้นว่าระบบบล็อกเชนมีรูปแบบการกระจายอำนาจทำให้การดัดแปลง แก้ไขข้อมูลและความพยายามที่โกงระบบเป็นไปได้ยากมาก หรืออาจแทบเป็นไปไม่ได้นอกเสียจากจะมีการ Hack ทั้งเครือไปพร้อมกัน หรือมีการรวมตัวกันของผู้ใช้เครือข่ายให้ได้ 51% เพื่อกำหนดทิศทางของข้อมูลด้วยตัวเอง แต่ไม่ว่าจะมองในมุมใดการกระทำเหล่านั้นก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ค่อนข้างยากอย่างมาก
2.ระบบบล็อกเชนช่วยกระจายอำนาจ
การจัดเก็บข้อมูลแบบดั้งเดิมมักเป็นการฝากเอาไว้บน Server สักแห่ง แต่การทำเช่นนั้นอาจจะทำให้เกิดปัญหามากมายตามมาเช่น เครื่อง Server เกิดพังอย่างถาวร การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตถูกตัด หรือมีผู้ไม่หวังดีทำการกดปุ่มเพื่อลบล้างข้อมูลทั้งหมดให้หายไป เป็นต้น
ไม่ว่าจะในกรณีใดก็ตาม สิ่งเหล่านี้ก็ถือว่าเป็นความเสี่ยงที่ไม่สามารถยอมรับได้ ทำให้ระบบบล็อกเชนเป็นสิ่งที่โดดเด่นขึ้นมาในทันที เพราะถึงแม้ว่าจะมีเครื่องคอมพิวเตอร์ในเครือข่ายเสียหายไปสักเครื่องหนึ่ง แต่ข้อมูลเหล่านั้นก็ยังคงเหลืออยู่ในเครื่องคอมพิวเตอร์ที่เหลือ ยกเว้นที่ทั้งเครือข่ายจะเกิดพังพร้อมกันทั้งหมดเท่านั้น
ส่งท้ายก่อนจาก : ระบบบล็อกเชนนำไปปรับใช้กับหลายอุตสาหกรรมและธุรกิจได้มากกว่าที่คิด
ในปัจจุบันระบบบล็อกเชน ได้ถูกนำมาปรับใช้กับหลากหลายอุตสาหกรรม แต่ดูเหมือนว่าอุตสาหกรรมที่ได้รับผลดีมากที่สุดคือ “การเงิน” เนื่องจากระบบบล็อกเชนมีพลังในการประมวลผลที่สูงมากจากการใช้พลังของฮาร์ดแวร์ที่มาเข้าร่วมเป็นเครือข่าย ส่งผลให้การทำธุรกรรมทางการเงินที่เคยยุ่งยาก ใช้เวลานานหลายวันและข้อบกพร่องตกหล่นที่มักเกิดขึ้นจากพนักงานของสถาบันการเงินถูกลบหายไป ส่งผลดีต่อการทำธุรกรรมที่รวดเร็วขึ้นแบบตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ ระบบบล็อกเชนยังถูกนำไปใช้กับวงการขนส่งที่สามารถตรวจสอบได้ว่าพัสดุส่งถึงไหนแล้ว หรือสูญหายไปเกิดจากฝ่ายใด นำไปใช้กับโรงพยาบาลในการจัดเก็บข้อมูลของคนไข้ได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพและโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ เป็นต้น